HOME
 
 
CONTACT
  TODAY TOPIC  
 

เวลาโมโห ใจเราจะเป็นสีดำ

 
  01/07/2024  
 
เวลาโกรธ จิตมันเสีย ธาตุมันก็เสีย
เวลาหายโกรธแล้ว ธาตุมันก็ยังเสียอยู่
เหมือนตอไม้ที่ไฟไหม้ เมื่อไฟดับแล้ว
ตอก็ยังเป็นสีดำอยู่ (เป็นวิบาก)
.
พระอาจารย์ลีธมฺมธโร
วัดอโศการาม อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
.
ความโกรธ มักเป็นอารมณ์ที่เราอยากให้คนอื่นแก้ไข แต่มักไม่ค่อยสังเกตและแก้ไขในตนเอง ธรรมะและข้อคิดเรื่องความโกรธไม่เพียงเหมาะแก่ผู้มักโกรธหรือหัวเสียบ่อยเท่านั้น แต่ยังเหมาะกับเราที่หัวเสียไม่บ่อยด้วย ทั้งชีวิตที่ไม่ค่อยแสดงความโกรธ แต่เพียงกระทำตามความโกรธแค่ครั้งเดียวก็อาจส่งผลต่อชีวิตชนิดที่ไม่อาจย้อนคืน
.
การที่เราจะรู้ทันและดูแลความโกรธเป็น เราต้องเข้าใจก่อนว่าความโกรธนั้นมีหลายแบบหลายระดับด้วยกัน บางครั้งเราปฏิเสธว่านี่ไม่ใช่ความโกรธ แค่หงุดหงิด รำคาญ ดังพระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า
.
“ความปองร้าย ความมุ่งร้าย ความขัดเคือง ความขุ่นเคือง ความเคือง ความเคืองทั่ว ความเคืองเสมอ ความชัง ความชังทั่ว ความชังเสมอ ความพยาบาทแห่งจิต ความประทุษร้ายในใจ ความโกรธ กิริยาที่โกรธ ความเป็นผู้โกรธ ความชัง กิริยาที่ชัง ความเป็นผู้ชัง ความพยาบาท กิริยาที่พยาบาท ความเป็นผู้พยาบาท ความพิโรธ ความพิโรธตอบ ความเป็นผู้ดุร้าย ความเพาะวาจาชั่ว ความไม่แช่มชื่นแห่งจิต นี้เรียกว่า ความโกรธ.” *[๑]
.
อาการโกรธนั้นมีหลายระดับด้วยกัน สามารถแบ่งแยกย่อยได้ ๑๒ ระดับตามหลักใน พระไตรปิฎก แต่สามารถแบ่งคร่าวๆ ได้ ๓ ระดับคือ โกรธระดับขุ่นข้องหมองมัวในใจ แต่ไม่แสดงอาการทางกายมาก อาจเพียงสายตาขุ่นมัว ชักสีหน้า หรือตัวสั่น , โกรธระดับแสดงออกทางวาจา และคิดร้ายแต่ไม่กระทำ และโกรธระดับทำร้ายกันหรือทำลายสิ่งของต่างๆ
.
เราต้องยอมรับความโกรธของใจตนเองให้ได้ก่อน หากไม่ยอมรับสิ่งใดแล้วเราก็จะมิอาจดูแลสิ่งดังกล่าวหรือปล่อยวางลงได้เลย ความโกรธมิว่าน้อยหรือมากต่างก็ให้ผลเสียและเป็นอกุศลเช่นเดียวกัน การไม่ยอมรับหรือปล่อยปละย่อมนำมาสู่โทษและผลเสียต่อตนเองกับคนรอบข้างมากมาย
.
การที่เราไม่รับการด่ามา ไม่รับการโกรธมา ด้วยการไม่ตอบโต้ด้วยความโกรธและอารมณ์กลับไป การด่าว่าและความโกรธเหล่านั้นก็จะอยู่ในเรือนใจของอีกฝ่ายแต่ลำพัง เผาไหม้แต่ในใจของฝ่ายที่โกรธนั้น ไม่มาสู่เรือนใจของเรา
.
“บุคคลโกรธตอบบุคคลผู้โกรธ จัดว่าเป็นคนเลวกว่าบุคคลผู้โกรธ เพราะความโกรธตอบนั้น บุคคลผู้ไม่โกรธตอบบุคคลผู้โกรธ ชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้ยาก
บุคคลใดรู้ว่าบุคคลอื่นโกรธแล้ว มีสติสงบใจได้ บุคคลนั้นชื่อว่าประพฤติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย คือ แก่ตนและบุคคลอื่น”
.
พระพุทธเจ้ายังทรงตรัสแนะนำว่า
“พึงชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ พึงชนะความไม่ดีด้วยความดี พึงชนะความตระหนี่ด้วยการให้ พึงชนะคนมักกล่าวคำเหลาะแหละด้วยคำสัตย์ พึงกล่าวคำสัตย์ ไม่พึงโกรธ แม้เมื่อมีของน้อย ถูกขอแล้วก็พึงให้”
.
ขอขอบคุณที่มา : www.dhammaliterary.org
 
                 
           
Copyright © 2021 SOCOOL LIMITED. All right reserved.