HOME
 
 
CONTACT
  Today topic  
 

เหตุผลจิตวิทยา ทำไมคนเราถึงคิดที่จะทำร้ายร่างกายคนที่เรารักให้เจ็บปวด หรือฆ่าเขาให้ตาย

 
  21/04/2023  
 

เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมเวลาคนรักเลิกกัน เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนหมดรักหรือบอกเลิก อีกฝ่ายจึงตอบแทนด้วยการทำร้าย หรือปลิดชีวิตของอีกฝ่าย อย่างเช่น ข่าวล่าสุดในช่วงที่ผ่าน ๆ มาอย่างการ ยิงแฟนสาวหรือแฟนเก่าของตัวเอง แล้วก็ฆ่าตัวตายตามอย่างโหดเหี้ยม

ซึ่งทำให้คนที่เสพข่าวส่วนมากรู้สึกสลดและหดหู่ใจกันอยู่ทุกครั้งที่ได้เห็นข่าวประเภทดังกล่าว บางคนอาจจะเกิดคนถามขึ้นมาในหัวว่า คนเราถ้ารักกันจริง คงไม่มีวันคิดทำร้ายกัน วันนี้เราจึงจะพาไปดูสาเหตุกันว่าทำไมการทำร้ายคนรักหรือทำร้ายตัวเอง ถึงเกิดขึ้นเมื่อคนเราอกหักหรือผิดหวังในความรักนั้น

ก่อนอื่นเลยเราอยากให้เริ่มต้นเรื่องนี้ด้วยคำถามที่ว่า ทำไมคนเราถึงคิดที่จะทำร้ายร่างกายคนที่เรารักให้เจ็บปวด หรือฆ่าเขาให้ตาย เมื่อความรักไปกันไม่รอด บางคนก็อาจจะตอบว่า คงเป็นเพราะเสียใจมากหรือว่าโกรธมากจากความผิดหวังในความรักน่ะสิ แต่หากลองคิดอย่างถี่ถ้วนบางคนก็อาจจะสงสัยว่า แต่ทำไมเวลาที่ตัวเราเองผิดหวังหรือเสียใจจากความรักเราก็ไม่เห็นจะก่อเหตุรุนแรงต่อคนรักหรือต่อตัวเองล่ะ? เพราะฉะนั้น การทำร้ายคนรักและทำร้ายตัวเอง มันจึงไม่ได้เป็นแค่อารมณ์ชั่ววูบเท่านั้น

นักจิตวิทยาได้ศึกษาย้อนไปยังช่วงเวลาที่มนุษย์ยังเป็นทารกในช่วง 2-3 ปีแรกของชีวิต เมื่อตอนที่เรายังเป็นทารกอยู่ เรามักจะได้รับการดูแลเอาใจใส่จากแม่เป็นอย่างดี ซึ่งไอความเอาใจใส่จากแม่นี้ นักจิตวิทยาค้นพบว่า จะทำให้เด็กพัฒนาความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามากเพียงใด ความรู้สึกเชื่อมั่นในตัวเอง รวมไปถึงความไว้วางใจในผู้อื่น ซึ่งจะกลายเป็นสิ่งติดตัวมาจนเราเป็นผู้ใหญ่ และเรียกว่าลักษณะความผูกพันกับผู้อื่น แบ่งได้เป็น 3 แบบ คือ ลักษณะผูกพันกับผู้อื่นแบบมั่นคง, แบบหลบเลี่ยง และแบบวิตกขัดแย้ง

โดยลักษณะความผูกพันแบบใดแบบหนึ่งในสามแบบนี้จะส่งผลกับตัวเราต่อการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น การมีเพื่อนใหม่, การมีคนรัก รวมไปถึงความสุขในความสัมพันธ์กับคนอื่น ๆ ในชีวิตเรา

ทีนี้มาดูกันว่า ลักษณะความผูกพันแบบใดทำให้เรามีความรักหรือมีความสัมพันธ์ราบรื่น และแบบใดมักทำให้ความสัมพันธ์มีปัญหาและทำให้เราแก้ปัญหาในความสัมพันธ์ด้วยการทำร้ายกันได้ในที่สุด

การที่เราแต่ละคนมีความเชื่อมั่นในคุณค่าของตัวเองไม่เท่ากัน และเชื่อมั่นในตัวคนอื่นแตกต่างกัน ก็เพราะการเอาใจใส่จากแม่ในการเลี้ยงดูตั้งแต่เด็ก ซึ่งจะกลายเป็นลักษณะความผูกพันกับคนอื่น 3 แบบ คือแบบมั่นคง แบบหลีกเลี่ยง และแบบวิตกขัดแย้ง ลักษณะความผูกพันแต่ละแบบนั้น ทำให้คนเราสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับผู้อื่นแตกต่างกัน

1.ลักษณะความผูกพันแบบมั่นคง เกิดจากการที่แม่เลี้ยงดูเอาใจใส่เมื่อตอนเป็นทารกอย่างอบอุ่น ทำให้เรากลายเป็นผู้ใหญ่ที่เชื่อมั่นในคุณค่าของเราเอง คาดหวังการตอบสนองดี ๆ จากผู้อื่นเวลาหาเพื่อนใหม่หรือเริ่มมีความรักกับใครสักคน ส่งผลให้มีความรักที่อบอุ่นยืนยาวกับคนรัก แสดงความรักที่มีต่อผู้อื่น เมื่อมีปัญหาทะเลาะกันก็จะมักจะไม่โกรธมาก และไม่มีการแสดงออกทางด้านความรุนแรง แต่ถ้าโกรธหรือเถียงกับแฟน ก็มักจะคาดหวังในทางบวกว่า เราจะหาทางออกหรือตกลงคืนดีกันได้ในที่สุด

2.ผู้ใหญ่ที่เติบโตมาในครอบครัวที่ไม่อบอุ่น เลี้ยงลูกแบบทอดทิ้ง ไม่ใส่ใจ ห่างเหินจะทำให้ลูกไม่ได้รับการตอบสนองที่เขาต้องการจากคนสำคัญที่สุดอย่างแม่ ส่งผลให้เขามีลักษณะความผูกพันกับผู้อื่นในแบบที่ไม่มั่นคง ในลักษณะหลีกเลี่ยงผู้อื่น คนแบบนี้รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่าเพียงพอแก่ความรักและไม่เชื่อใจผู้อื่น ทำให้เขาพยายามหลีกเลี่ยงที่จะติดต่อสัมพันธ์กับใครหรือมีความรักสักครั้ง มักแสดงความก้าวร้าว โกรธเกรี้ยว และปฏิเสธมิตรไมตรีจากผู้อื่น ตอนเด็ก ๆ จึงมักไม่ค่อยมีเพื่อน

3.ลูกที่แม่ให้ความเอาใจใส่อย่างไม่สม่ำเสมอในวัยทารก ก็จะมีลักษณะความผูกพันกับผู้อื่นที่ไม่มั่นคงในแบบวิตกขัดแย้ง นั่นก็คือคน ๆ นี้จะมีความขัดแย้งในตัวเอง คืออยากจะเป็นที่รักของคนอื่นมาก แต่ก็วิตกกังวลมากว่าตัวเองจะไม่มีค่าเพียงพอสำหรับเขา กลัวจะถูกปฏิเสธ กลัวว่าเขาจะไม่รักจริง เวลาเห็นแฟนไปคุยกับคนอื่นก็อาจรู้สึกหวั่นไหว วิตกกังวลมาก และอยากอยู่ใกล้ ๆ คนรักเอาไว้ก่อน การวิจัยจึงพบว่าคนแบบนี้ขี้หึงที่สุด และด้วยความขี้หึง รวมทั้งไม่มั่นใจในตัวเองนี้ ทำให้เขาไม่ค่อยมีความสัมพันธ์ที่ยืนยาวนัก มักถูกตีจากได้ง่าย จนทำให้ผู้ชายที่มีลักษณะความผูกพันกับผู้อื่นแบบวิตกขัดแย้ง มักทำร้ายร่างกายคนรักของตน เนื่องจากความโกรธและหึงหวงนั่นเอง

เมื่อต้องสูญเสียคนรักหรือถูกทอดทิ้ง คนแบบใดที่เราต้องระวังไม่ให้เขาลุกขึ้นมาทำร้ายเราหรือทำร้ายตัวเขาเอง? ลักษณะความผูกพันกับผู้อื่นที่ทำให้เราตอบสนองเวลาอกหักหรือถูกแฟนทอดทิ้งจึงต่างกัน แล้วแบบไหนล่ะที่มักจะนำไปสู่การฆ่าตัวตายหรือฆ่าแฟนทิ้งได้ในที่สุด?

เมื่อถูกปฏิเสธหรือเมื่อผิดหวัง เราก็จะรู้สึกเสียใจ และโกรธตามธรรมชาติ และเมื่อพูดถึงอารมณ์โกรธที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ที่อาจนำไปสู่การทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่งได้นั้น การวิจัยก็ชี้ว่า ผู้ที่มีลักษณะความผูกพันแบบมั่นคงจะไม่โกรธง่าย ถึงอีกฝ่ายหนึ่งจะยั่วโมโห เขาก็มักจะไม่โกรธตอบ

ในขณะที่ผู้มีลักษณะความผูกพันกับผู้อื่นแบบหลีกเลี่ยง มักจะโกรธง่าย ไม่เป็นมิตร และคนประเภทนี้มักจะไม่รู้สึกตัวว่าตัวเองกำลังโมโหร้าย

ส่วนผู้ที่มีลักษณะความผูกพันกับผู้อื่นในแบบวิตกขัดแย้งนั้น มักจะรู้สึกโกรธเมื่อคนรักแสดงท่าทีห่างเหิน ไม่สนใจ ไม่ให้ความสำคัญ ทอดทิ้งให้เผชิญปัญหาตามลำพัง เช่น ไม่ให้เวลาว่างแก่ตนมากพอเมื่อตนต้องการ แต่คนแบบนี้กลัวการถูกทอดทิ้งมาก จึงมักเก็บกดเอาความโกรธนี้เอาไว้ในใจ

จะเห็นได้ว่าการแสดงความรู้สึกของคนแบบวิตกขัดแย้งนี้ซับซ้อนมากทีเดียว เขาจะไม่แสดงความโกรธในตอนที่คนรักของเขาหงุดหงิดกังวล เพราะมีโอกาสถูกทิ้งสูง และการถูกทิ้งสำหรับเขาแล้วคือการสูญเสียที่ใหญ่หลวง ดังนั้นโดยภาพรวมแล้ว เราจะเห็นว่าผู้ที่ถูกเลี้ยงมาอย่างไม่อบอุ่นทั้ง 2 แบบ คือแบบที่แม่ทอดทิ้งไม่ใส่ใจหรือเรียกว่าแบบหลีกเลี่ยง กับแบบที่แม่ให้ความอบอุ่นไม่สม่ำเสมอหรือเรียกว่าแบบวิตกขัดแย้ง จะเป็นกลุ่มคนที่มีแนวโน้มที่จะโกรธง่ายหรือขี้โมโหต่อคนรัก จึงมีแนวโน้มที่จะทำร้ายคู่รักของตนมากกว่า

นอกจากนี้ ในการปรับตัวต่อความเศร้าเสียใจหรือการถูกทอดทิ้งจากคนรักนั้น ลักษณะของความผูกพันแบบมั่นคงหรือไม่มั่นคง ก็มีอิทธิพลอย่างมาก โดยการวิจัยชี้ว่า คนที่มีลักษณะความผูกพันกับผู้อื่นแบบมั่นคง จะเผชิญความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจอย่างตรงไปตรงมา ไม่หลอกตัวเอง นำไปสู่การจัดการและปรับตัวไปตามความจริง

ในขณะนี้ผู้มีความผูกพันแบบหลีกเลี่ยง ก็จะหลีกเลี่ยงที่จะยอมรับว่าตนเองรู้สึกเสียใจ พยายามคิดว่านี่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพิกเฉย ไม่สนใจต่อความรู้สึกนี้ ส่วนผู้ที่มีลักษณะความผูกพันแบบวิตกขัดแย้ง ก็จะครุ่นคิดหมกมุ่นอยู่กับความเศร้าเสียใจนั้น และขยายความทุกข์นั้นให้ยิ่งใหญ่มากยิ่งขึ้น อาจรู้สึกว่าการสูญเสียคนรักเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่เหมือนโลกทั้งโลกถล่มทลายลง ชีวิตนี้ไม่เหลือสิ่งใดอีกแล้ว จึงเป็นกลุ่มคนที่เสี่ยงสูงที่สุดที่จะทำร้ายตนเอง และทำร้ายคนรักที่ทิ้งหรือเลิกกับตนไป ด้วยความโกรธแค้นและสิ้นหวังในความสัมพันธ์นั่นเอง

จะเห็นได้ว่าการเลี้ยงดูให้ความอบอุ่นแก่ลูกอย่างขาด ๆ เกิน ๆ ไม่สม่ำเสมอนั้น อาจส่งผลให้เขาเป็นผู้โหยหิวความรักในวัยผู้ใหญ่และทนไม่ได้ที่จะไม่ได้รับมันอีก จึงทำให้ความรักของเขาอาจลงเอยด้วยการทำลายได้ ดังนั้น การเลี้ยงดูและให้ความอบอุ่นกับลูกนั้น มีอิทธิพลสำคัญต่อการปรับตัวเมื่อต้องผิดหวังในความสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งทางที่ดีคือเราต้องให้ความอบอุ่นแก่ลูกให้พอเพียง

นอกจากพ่อแม่จะต้องเข้าใจความสำคัญของการเลี้ยงดู การให้ความอบอุ่น และการปกป้องลูกไม่ให้มากเกินไปแล้ว พ่อแม่ยังต้องเข้าใจลักษณะสำคัญของวัยแห่งความรัก หรือวัยรุ่นด้วยว่า วัยรุ่นนั้นเป็นวัยแห่งการมีอารมณ์ความรู้สึกรุนแรง

ดังนั้นเมื่อเขารู้สึกรักใครซึ่งมักจะเป็นรักแรก เขาก็มักจะรักแรงและฝังใจไปนาน เช่นเดียวกับเมื่อเขาอกหักจากคนรัก เขาก็จะเจ็บปวดมาก และด้วยวัยแรกรัก ทำให้เขายังไม่เรียนรู้ถึงการประคับประคองความรัก ไม่มีประสบการณ์ในการเข้าใจอารมณ์รักหรือหลอกของผู้อื่น ดังนั้น พ่อแม่จึงจำเป็นต้องเข้ามาช่วยลูกด้วย

และพ่อแม่ควรแสดงให้ลูกเห็นว่า โลกนี้ยังมีอะไรให้ทำให้เรียนรู้อีกมาก เพราะคนอกหักมักจะสิ้นกำลังใจไม่อยากทำอะไร และยกเลิกแผนการต่าง ๆ ที่วางเอาไว้ มัวไปครุ่นคิดถึงแต่โอกาสคืนดี และคิดว่าคนที่ทิ้งเขาไปนั้นจะรู้สึกอย่างไร จะกลับมาหา จะโทรมาหรือไม่

ซึ่งคุณพ่อคุณแม่คงต้องให้เวลาลูก ทำใจและก็ไม่ต้องวิตกกังวล หรือแสดงอาการเครียดว่านี่เป็นเรื่องใหญ่ในครอบครัว เพียงแต่สร้างบรรยากาศแห่งการปลอบโยนและพร้อมรับฟัง ช่วยให้ลูกผ่านประสบการณ์อันปวดร้าวนี้ไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เขายังคงมีมุมมองที่ดีต่อความรัก และพร้อมจะมีรักและครอบครัวที่อบอุ่นได้อีกต่อไป

_____________________
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
สารคดีทางวิทยุรายการจิตวิทยาเพื่อคุณ – วิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 
           
Copyright © 2021 SOCOOL LIMITED. All right reserved.