ในภาพจิตรกรรมฝาผนังไทยมักจะมี "แมวไทย" ปรากฏอยู่ตามฝาผนังวัดและอารามต่าง ๆ ซึ่งสะท้อนถึงความผูกพันระหว่างคนไทยและแมวที่ยาวนานหลายยุคหลายสมัย พิสูจน์ให้เห็นว่า คนไทยตกเป็น "ทาสแมว" มานานแล้ว
.
ในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่หันไปเลี้ยงแมวพันธุ์ต่างประเทศที่มีหน้าตาน่ารัก แต่รู้หรือไม่ว่า "แมวไทยโบราณ" ก็มีคุณสมบัติไม่แพ้แมวนอก แมวไทยโบราณเชื่อกันว่ามีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย และได้ถูกบันทึกไว้ในสมุดข่อยโบราณตั้งแต่สมัยอยุธยา มีรูปร่าง ลักษณะ และสีสันที่สวยงาม นอกจากนี้ยังเชื่อว่า หากเลี้ยงแมวไทยมงคลในบ้าน จะนำมาซึ่งทรัพย์สิน เงินทอง อำนาจ และบารมี ทั้งยังมีนิสัยรักเจ้าของ อ้อนเก่ง ฉลาด และคล่องแคล่ว
.
ในอดีต แมวไทยถูกมอบเป็นของขวัญในงานมงคล เช่น การขึ้นบ้านใหม่ หรือในวัดที่นิยมเลี้ยงแมวเพื่อป้องกันหนูที่อาจทำลายพระไตรปิฎก
.
แมวไทยได้แพร่กระจายไปยังยุโรปในศตวรรษที่ 19 และได้รับความนิยมจากชาวตะวันตก จนถึงกับมีการจัดตั้งชมรมแมวสยามที่กรุงลอนดอน
.
ในสมัยก่อน มีการบันทึกแมวไทยในตำราโบราณที่เรียกว่าสมุดข่อย ซึ่งระบุถึงแมวไทยทั้งหมด 23 ชนิด แบ่งเป็นแมวที่ดี (แมวให้คุณ) 17 ชนิด และแมวที่ไม่ดี (แมวให้โทษ) 6 ชนิด โดยในปัจจุบันมีแมวที่ถือเป็นแมวให้คุณเหลืออยู่เพียงไม่กี่สายพันธุ์ เช่น วิเชียรมาศ ศุภลักษณ์ โกนจา และสีสวาด ซึ่งทุกฝ่ายต่างร่วมมือกันอนุรักษ์แมวไทยสายพันธุ์เหล่านี้ให้อยู่ต่อไป
.
ข่าวดีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาคือ การค้นพบแมว "แซมเสวตร" ซึ่งถือเป็นหนึ่งในแมวให้คุณที่เคยเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว ทำให้แมวให้คุณที่เหลืออยู่มีมากขึ้นเป็น 5 สายพันธุ์ ส่วนแมวขาวมณี หรือ ขาวปลอด แม้จะไม่ได้ปรากฏในตำราโบราณ แต่ก็จัดว่าเป็นแมวไทยมงคลเช่นเดียวกัน
.
นอกจากนี้ เมื่อไม่กี่เดือนก่อน สหพันธ์แมวโลก (WCF) ก็ได้รับรองสายพันธุ์ "แมวศุภลักษณ์" เป็นแมวสายพันธุ์ไทยโบราณแท้ ตามที่ระบุในสมุดข่อยโบราณ
.
แมวที่มีลักษณะมงคลตามตำราโบราณส่วนใหญ่จะมีขนสีดำ ซึ่งต่างจากความเชื่อในปัจจุบันที่ว่าแมวดำนั้นไม่ดี แต่ตามความเชื่อโบราณถือว่าแมวดำเป็นแมวที่ดีและควรเลี้ยงไว้
.
เห็นได้ชัดว่า ไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบัน มนุษย์ยังคงยินดีที่จะตกเป็นทาสแมวอย่างไม่รู้จักเบื่อ และคงจะไม่มีวันประกาศอิสรภาพจากการเป็นทาสแมวได้จริงๆ...