เมื่อเรามองไปรอบตัว เราจะเห็นว่าทุกคนล้วนมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตา ความสามารถ บุคลิกภาพ หรือแม้แต่ความคิดและความเชื่อ ปัจจัยสำคัญอะไรที่ทำให้มนุษย์แต่ละคนนั้นแตกต่างกัน
.
ในทางวิทยาศาสตร์ ความแตกต่างของมนุษย์เกิดจากหลายปัจจัยหลายประการ ได้แก่ พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม พันธุกรรมเป็นรากฐานที่กำหนดลักษณะเฉพาะตัวที่ถ่ายทอดมาจากพ่อแม่ เช่น สีผม สีตา รูปร่าง และความสามารถทางกายภาพ ยีนซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในดีเอ็นเอทำหน้าที่ส่งต่อข้อมูลทางพันธุกรรมนี้ให้กับรุ่นถัดไป
.
หรือแม้แต่การปฏิสัมพันธ์ระหว่างยีนและสิ่งแวดล้อมก็มีบทบาทสำคัญในการกำหนดบุคลิกภาพและพฤติกรรม ตัวอย่างเช่น คนที่มียีนที่เกี่ยวข้องกับความสามารถทางดนตรี หากเติบโตในสิ่งแวดล้อมที่สนับสนุน เช่น การเรียนดนตรีตั้งแต่วัยเยาว์ จะสามารถพัฒนาความสามารถนั้นได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่คนที่มียีนเดียวกันแต่ขาดโอกาสในสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม อาจไม่ได้พัฒนาในด้านนั้น
.
แต่ในทางพระพุทธศาสนา ความแตกต่างของมนุษย์อธิบายได้ผ่านหลักกฎแห่งกรรม (กัมมวาทา) ซึ่งเป็นหลักสำคัญที่ระบุว่าการกระทำในอดีตของแต่ละบุคคลมีผลต่อการเกิดและลักษณะของชีวิตในปัจจุบัน กรรมที่เกิดจากเจตนาที่ดีหรือไม่ดีจะส่งผลให้มนุษย์เกิดมาต่างกัน เช่น การกระทำที่เป็นกุศลในอดีตชาติอาจนำไปสู่การเกิดมาในสภาพแวดล้อมที่ดี ในขณะที่อกุศลกรรมอาจนำมาซึ่งความทุกข์ยาก
.
ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นนั้นย่อมมีเหตุทั้งสิ้น ผลต่าง ๆ ที่เราได้รับ ล้วนมาจากเหตุที่เราสร้างกันมาเอง เหตุนั้นก็คือ "กรรม" ที่เราได้กระทำมาในอดีตชาติ ผลที่ได้รับก็คือ "วิบาก" ในปัจจุบันชาติ
.
มนุษย์ที่มีสภาพแตกต่างกันนั้น มูลปัณณาสก์ มัชฌิมนิกาย แสดงไว้ว่า
ฆ่าสัตว์ ไม่มีความกรุณา เป็นเหตุให้ อายุสั้น
ไม่ฆ่าสัตว์ มีความกรุณา เป็นเหตุให้ อายุยืน
เบียดเบียนสัตว์ เป็นเหตุให้ มีโรคมาก
ไม่เบียดเบียนสัตว์ เป็นเหตุให้ มีโรคน้อย
มักโกรธ มีความคับแค้นใจมาก เป็นเหตุให้ ผิวพรรณทราม
ไม่โกรธ ไม่มีความคับแค้นใจ เป็นเหตุให้ ผิวพรรณผุดผ่อง
มีใจประกอบด้วยความริษยาผู้อื่น เป็นเหตุให้ มีอานุภาพน้อย
มีใจไม่ริษยาผู้อื่น เป็นเหตุให้ มีอานุภาพมาก
ไม่บริจาคทาน เป็นเหตุให้ ยากจน อนาถา
บริจาคทาน เป็นเหตุให้ มีโภคสมบัติมาก
กระด้าง ถือตัว เป็นเหตุให้ เกิดในสกุลต่ำ
ไม่กระด้าง ไม่ถือตัว เป็นเหตุให้ เกิดในสกุลสูง
ไม่อยากรู้ ไม่ไต่ถามผู้มีปัญญา เป็นเหตุให้ มีปัญญาน้อย
อยากรู้ หมั่นไต่ถามผู้มีปัญญา เป็นเหตุให้ มีปัญญามาก
.
บางครั้งเราอาจพบว่า แม้ผู้ป่วยด้วยอาการเดียวกันก็ตาม แต่ชีวิตของเขาได้รับผลแตกต่างกัน ดั่งคำที่พระพุทธองค์ตรัสว่า "สัตว์โลกต่างมีกรรมเป็นของตน คนหนึ่งป่วย แต่ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดีจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลชั้นดี อีกคนหนึ่ง ป่วยด้วยอาการเดียวกัน สามารถเข้าโรงพยาบาลชั้นดีได้ แต่หมอตรวจแล้วไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคอะไร ต้องทนทุกข์ทรมานอยู่กับโรคนั้น อีกคนหนึ่ง ป่วยด้วยโรคเดียวกัน แต่ไม่มีเงินที่จะเข้ารับการรักษาได้ ต้องทนทุกข์และตายไปในที่สุด
.
แม้ว่าทางวิทยาศาสตร์และพระพุทธศาสนาจะมีแนวทางการอธิบายที่แตกต่างกัน แต่เราสามารถเลือกที่จะไม่มองว่าวิทยาศาสตร์และพระพุทธศาสนาเป็นคู่ขัดแย้ง แต่ให้มองว่าเป็นวิธีการที่แตกต่างกันในการค้นหาความจริงของชีวิต วิทยาศาสตร์ช่วยให้เราเข้าใจโลกภายนอก ในขณะที่พระพุทธศาสนาช่วยให้เราเข้าใจโลกภายใน เมื่อเรานำทั้งสองมุมมองมารวมกัน เราจะสามารถเข้าใจมนุษย์และความแตกต่างของมนุษย์ได้ในระดับที่ลึกซึ้งและครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การเคารพในความแตกต่างและการพัฒนาตนเองอย่างยั่งยืน