HOME
 
 
CONTACT
  TREND  
 

เรื่องราวศักดิ์สิทธิ์ของชายรักชาย
ความรักอันชอบธรรมของพวกเขาเป็นยังไงกันบ้าง

 
  05/01/2023  
  ในสมัยกรีกโบราณเป็นยุคที่ชายรักชายนั้นเป็นเรื่องงดงาม มหัศจรรย์และเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่บูชาพระเจ้าเลยทีเดียว ในสมัยกรีกโบราณนั้นมองว่า พฤติกรรมรักร่วมเพศถือเป็นสิ่งที่สูงส่ง เป็นเรื่องที่ต้องปฏิบัติเพื่อเรียนรู้การเป็นผู้ใหญ่ เมื่อ 2000 ปีก่อนคริสตกาล อารยธรรมกรีกรุ่งเรืองขึ้นจากอิทธิพลของอารยธรรมอียิปต์ และอารยธรรมเมโสโปเตเมีย มีการปกครองแบบนครรัฐซึ่งเป็นอิสระต่อกัน
มีศูนย์กลางอยู่ที่นครรัฐเอเธนส์และนครรัฐสปาตา

ประชากรชาวกรีกทำอาชีพเกษตรกรรมและเลี้ยงสัตว์ ผู้หญิงจะไม่มีบทบาทในกิจการเกี่ยวกับสาธารณะใด ๆ ทั้งสิ้น ถือเป็นเพศที่ถูกเหยียดหยามไม่ต่างจากทาส มีหน้าที่แค่เป็นแม่ของลูกเท่านั้น การแต่งงานของ ชาย-หญิง นั้นเป็นเพียงหน้าที่ทางสังคม ไม่ใช่ความรักที่ลึกซึ้ง ผู้ชายจึงสามารถไปมีความสัมพันธ์กันคู่รักเพศชายด้วยกัน เนื่องจากมีฐานะทางสังคมและสติปัญญาเท่าเทียมกัน

ในสังคมชาวกรีกจะถือว่า รูปร่างของมนุษย์เป็นสิ่งที่มีความงาม เด็กคนใดหากเกิดมามีร่างกายพิการหรือไม่แข็งแรงก็จะถูกนำไปฆ่า มนุษย์จึงใส่ใจกับร่างกายตนเองผ่านการออกกำลังกายที่ยิมเนเซียม ซึ่งเป็นสถานที่ที่รวมกิจกรรมที่มีการฝึกฝนร่างกายและการแข่งขันกีฬา รวมทั้งการพบปะพูดคุยกันในเรื่องของชายชาวกรีก และเป็นสถานที่ที่ไว้สำหรับชมเรือนร่างในหมู่ผู้ชายด้วยกันเอง เนื่องจากพวกเขาจะออกกำลังกายในสภาพที่เปลือยกายอยู่เสมอ

นอกจากนี้ในสมัยกรีกโบราณมีการทำสงครามกันอยู่บ่อยครั้ง ชายชาวกรีกจึงมุ่งมั่นและทุ่มเทให้กับการฝึกรบอย่างเข้มงวด เมื่อได้ออกไปรบซึ่งกินเวลานานหลายปี ทำให้ทหารชาวกรีกมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเพื่อนชายของตน บางตำนานกล่าวว่า ’ความสัมพันธ์เช่นนี้ถือเป็นการบวงสรวงเทพเจ้า เพื่อช่วยให้ได้รับชัยชนะในสงคราม’ เรื่องราวต่าง ๆ ในสังคมกรีกนั้นจะปรากฎให้เห็นในงานศิลปะเช่น สถาปัตยกรรม, ประติมากรรม, จิตกรรม, วรรณกรรม รวมทั้งงานเขียนทางปรัชญา และสามารถสะท้อนแนวคิดในเรื่องรักร่วมเพศได้เช่นกัน

จากการศึกษาของ วราคุณ ทิมรอด ในปี 2548 ได้แบ่ง ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดความนิยมรักร่วมเพศในสมัยกรีกโบราณ
ออกเป็นปัจจัยใหญ่ 3 แบบ ดังนี้
1. สังคมและวันธรรมของผู้ชายเอเธนส์:
การแบ่งเพศในสมัยนั้นจะแบ่งเป็น ‘ฝ่ายรุก’ และ ‘ฝ่ายรับ’ ฝ่ายรุกได้แก่ ชายสูงวัย ส่วนฝ่ายรับนั้น ได้แก่ เด็กหนุ่มและผู้หญิง ทำให้เห็นว่าในสมัยนั้นจะให้ความสำคัญกับผู้อาวุโส และมีลักษณะเป็นสังคมปิตาธิปไตย
ในสังคมและวัฒนธรรมของกรีก เด็กหนุ่มอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องได้รับการอบรมศึกษาเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และพร้อมต่อการปฏิบัติหน้าที่ต่อการเป็นพลเมือง ชายสูงวัยจึงทำหน้าที่เป็นครูเพื่อสอนทักษะการใช้ชีวิต, การล่าสัตว์, การรบ, สอนอ่านและเขียนหนังสือ

ความใกล้ชิดนี้เองที่นำไปสู่ความสัมพันธ์แบบชายรักชาย ความสัมพันธ์เช่นนี้ชาวกรีกมองว่า ‘เป็นสถาบันทีทำให้สังคมสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น’ กล่าวคือ การอบรมโดยชายผู้อาวุโสกว่า จะช่วยยกระดับจิตใจ ฝึกความอดทน ความเคารพ ความกล้าหาญ เป็นต้น

2. งานเขียนทางปรัชญา:
นักปรัชญาชาวกรีกผู้หนึ่งที่สำคัญที่สุดอย่าง เพลโต ซึ่งงานเขียนทางปรัชญาที่มีชื่อเสียงของเขา คือ ‘ซิมโพเซียม(The Symposium)’ เป็นวรรณกรรมในรูปแบบของบทสนทนาในงานเลี้ยงสำคัญของชายชาวกรีก หัวข้อที่สนทนานั้นคือ เรื่องความรัก โดยเฉพาะรักร่วมเพศที่เรียกว่า Platonic Love

ซึ่งเขามองว่า ความรักที่ถูกต้องของผู้ชายสูงอายุที่มีต่อเด็กหนุ่มไม่ใช่การหาความสำราญทางร่างกาย แต่เป็นการช่วยสร้างความงามหรือความดีให้เกิดขึ้นในจิตใจของผู้นั้น และงานเขียนชิ้นนี้มีอิทธิพลมากต่อทัศนคติของชาวกรีกโบราณ

3. เทพปกรณัมกรีก:
ชาวกรีกมีความเชื่อแบบพหุเทวนิยม โดยเทพเจ้าสำคัญมีอยู่ 12 องค์ 1 ในนั้นคือ ซุส ซึ่งเป็นราชาแห่งเทพเจ้า มีความสัมพันธ์แบบร่วมเพศกับแกนิมีด โอรสองค์เล็กของกษัตริย์แห่งทรอย แกนีมีดเป็นเด็กหนุ่มรูปงามทำให้ซุสเกิดความหลงใกล จึงแปลงกลายเป็นนกอินทรีย์ไปลักพาตัวแกนิมีดขึ้นไปบนเขาโอลิมปัส และให้ทำหน้าที่รินเหล้าให้แก่เหล่าเทพเจ้า

เรื่องราวของเทพปกรณัมกรีกสะท้อนความคิด ความเชื่อในเรื่องรักร่วมเพศได้เป็นอย่างดี เนื่องจากชาวกรีกเชื่อว่าเทพเจ้ามีอารมณ์ ความรู้สึก รูปร่าง หน้าตาเช่นเดียวกับมนุษย์ ต่างกันที่เทพเจ้ามีพลังอำนาจเหนือกว่า

จากปัจจัยดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า แนวคิดรักร่วมเพศมีมานานกว่า 1000 ปี โดยเฉพาะในสมัยกรีกโบราณที่มองว่า รักร่วมเพศเป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้ชายต้องเรียนรู้ เป็นความรักอันชอบธรรมที่เกิดจากความรู้สึกอันบริสุทธิ์ เพราะนี่คือมิตรภาพและการร่วมเพศล้วน ๆ ไม่มีผลประโยชน์ละหน้าที่ทางสังคมมาเจือปน ต่างจากการแต่งงานหรือการร่วมเพศระหว่างชายกับหญิงล้วนเป็นเรื่องผลประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองแทบทั้งนั้น
_____________________
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ธเนศ วงศ์ยานนาวา."เพศ จากธรรมชาติ สู่จริยธรรม จนถึงสุนทรียะ".พิมพ์ครั้งที่ 2.กรุงเทพ: สมมติ.2556.หน้า 24-32
วราคุณ ทิมรอด.บทวิเคราะห์แนวคิดรักร่วมเพศที่ปรากฏในงานจิตรกรรมบนภาชนะเครื่องปั้นดินเผากรีก.
ณัฐกานต์ อดทน.เกย์กรีก.ความรักอันชอบธรรม
 
                 
                 
           
Copyright © 2021 SOCOOL LIMITED. All right reserved.