HOME
 
 
CONTACT
  TODAY'S TOPIC  
 

OLYMPIC TOKYO 2020
มีอะไรน่าตื่นใจบ้าง ไปดูกัน!

 
  04/08/2021  
 

กำลังจะปิดฉากลงในวันที่ 8 สิงหาคมนี้แล้ว สำหรับการแข่งขันโอลิมปิก 2020 หรือที่หลายคนเรียกว่า โอลิมปิก 2021 ซึ่งจัดขึ้น ที่สนามกีฬาโอลิมปิก สเตเดียม ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ภายใต้แนวคิด “ก้าวไปข้างหน้า” และเชื่อว่างานนี้จะต้องเป็นมหกรรมกีฬาที่ทุกคนจดจำและถูกกล่าวขานไปอีกนาน เพราะจัดขึ้นภายใต้การแพร่ระบาดของโควิด-19

ท่ามกลางความวิตกกังวลของแต่ละชาติกับความเสี่ยงในการนำนักกีฬาเข้าแข่งขัน แต่เจ้าภาพอย่างญี่ปุ่นก็ทำให้ทั่วโลกต้องทึ่งกับศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ ในการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดงานไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิงในทุกมิติ วันนี้ Socool Limited ได้รวบรวมสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจใน “โอลิมปิก 2020” มาไว้ที่นี่แล้ว ไปดูกันเลย

 
  ความลึกซึ้งของ "มาสคอต" โตเกียวโอลิมปิก 2020  
   
   
 

มาสคอตของการแข่งขันโอลิมปิกตัวที่ 26 ของโลก มีชื่อว่า “Miraitowa (มิไรโทวะ)” มาจากคำสองคำที่มีความหมายลึกซึ้ง คือ Mirai ที่แปลว่า “อนาคต” ส่วน Towa แปลว่า “นิรันดร์” มิไรโทวะจึงเป็นตัวแทนของอนาคต ที่เต็มไปด้วยความหวังนิรันดร์ในหัวใจของผู้คนทั่วโลก
มิไรโทวะ เต็มไปด้วยกลิ่นอายของความเป็นญี่ปุ่น และยังสะท้อนวัฒนธรรมของญี่ปุ่นด้วยลวดลายอิจิมัตสึสีครามที่เป็นลวดลายโบราณของญี่ปุ่น แต่ในขณะเดียวกันก็ให้ความรู้สึกที่ทันสมัยผ่านรูปลักษณ์สุดล้ำและความสามารถในการเทเลพอร์ อีกทั้งมาสคอตตัวนี้ยังถูกโหวตโดยนักเรียนประถมชาวญี่ปุ่นจาก 16,700 โรงเรียนทั้งในและนอกประเทศ เนื่องจากญี่ปุ่นเชื่อว่าเด็กจะเป็นคนกำหนดอนาคตของชาติ

 
 

โลโก้โอลิมปิก 2020 และเบื้องหลังของความหมาย
โลโก้ของโอลิมปิกกรุงโตเกียวปี ค.ศ.2020 เป็นการนำศิลปะแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น คือลายตารางหมากรุกที่เรียกว่า "อิชิมัตสุ โมโย" ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยเอโดะ หรือเมื่อราว 300-400 ปีที่แล้ว ผสมผสานกับการจัดวางรูปแบบใหม่ ที่กำหนดให้เป็นตัวแทนของความแตกต่างของชนชาติต่าง ๆ ภายใต้แนวคิด "Unity in Diversity" หรือเอกภาพภายในความแตกต่างหลากหลาย โดยผู้ที่ออกแบบโลโก้คือ อาซาโอะ โกโทโร่ ศิลปินชาวโตเกียว ที่ผลงานของเขาได้รับเลือกจากผลงานประกวดทั้งหมด 14,000 ชิ้น

โอลิมปิกสีเขียว เหรียญและเตียงทำจากวัสดุรีไซเคิล
เหรียญรางวัลทั้งหมดประมาณ 5,000 เหรียญ ของปีนี้ล้วนแต่ทำมาจาก โลหะรีไซเคิลจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก ที่ได้รับการบริจาคโดยคนญี่ปุ่นทั่วประเทศ มีลักษณะคล้ายกับก้อนหินที่ได้รับการขัดจนขึ้นเงา และเปล่งประกาย ตรงตามคอนเซ็ปต์ การออกแบบเหรียญที่ต้องการสื่อความหมายว่า “เพื่อหนทางแห่งความรุ่งโรจน์ นักกีฬาจะต้องพยายามอย่างหนักในการฝึกซ้อม” เปรียบได้กับการเชิดชูความสามารถและการทุ่มเทของนักกีฬา
ส่วนเตียงกระดาษสำหรับนักกีฬา ทำด้วยกระดาษคาร์ดบอร์ด ที่รับน้ำหนักได้ถึง 200 กิโลกรัม ผลิตขึ้นจำนวนกว่า 26,000 เตียง รวมสำหรับผู้เข้าแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ด้วย และเมื่อจบการแข่งขัน เตียงจะถูกนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นร่วมกับพลาสติกแบบโพลีเอธิลีน(PE)

 
 

โอลิมปิก 2020 เพิ่มกีฬา 6 ชนิดใหม่เป็นครั้งแรก
สำหรับการแข่งขันครั้งนี้ มีกีฬา 6 ชนิดใหม่ที่ถูกบรรจุเพิ่มเข้าในการแข่งขัน ซึ่งมาจากแผนการปฏิรูปโอลิมปิกที่มีชื่อว่า Olympic Agenda 2020 ที่เปิดโอกาสให้เจ้าภาพสามารถเสนอกีฬาชนิดใหม่เข้าร่วมแข่งขันได้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อดึงดูดแฟนกีฬาเยาวชนให้สนใจโอลิมปิกครั้งนั้น ๆ มากขึ้น โดย 6 ชนิดกีฬาใหม่ในโอลิมปิก 2020 ที่เพิ่มเข้ามาคือ ซอฟต์บอล, เซิร์ฟ, ปีนหน้าผา, คาราเต้, เบสบอล, สเกตบอร์ด ซึ่งเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมในกลุ่มเยาวชน อีกทั้งยังมีสาวน้อยทีมเจ้าภาพญี่ปุ่น โมมิจิ นิชิยะ วัย 13 ปี โชว์ความสามารถยอดเยี่ยมคว้าเหรียญทองในการแข่งขันสเก็ตบอร์ดประเภทถนนหญิง และถือเป็นนักกีฬาชาติญี่ปุ่นที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์

ไตรกีฬาหญิงพาเบอร์มิวดาคว้าเหรียญทอง กลายเป็นชาติเล็กสุดที่ได้เหรียญทองโอลิมปิก
ฟลอร่า ดัฟฟีย์ คว้าเหรียญทองไตรกีฬาหญิง และเป็นเหรียญทองแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศเบอร์มิวดา ซึ่งกลายเป็นชาติที่มีขนาดเล็กที่สุด ที่สามารถคว้าเหรียญทองโอลิมปิกได้ ซึ่งดัฟฟี่ย์เข้าเส้นชัยด้วยเวลา 1.55.36 ชั่วโมง นับเป็นผลงานที่ดีที่สุดในโอลิมปิกเกมส์ 4 ครั้ง โดย 3 ครั้งก่อนหน้านี้ไม่เคยจับอันดับดีกว่าที่ 8 เลย ทำให้เธอกลายเป็นฮีโร่ของเบอร์มิวดา ทั้งการได้เหรียญทองโอลิมปิกเป็นคนแรกประเทศ รวมทั้งยังเป็นเหรียญโอลิมปิกแรกในรอบ 45 ปี ของเบอร์มิวดาด้วย

 
 

แม้ว่าโอลิมปิก 2020 จะเต็มไปด้วยเรื่องน่าประทับใจมากมาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเงียบเหงากว่าครั้งที่ผ่าน ๆ มา เพราะโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้แทบไม่ให้กองเชียร์เข้าไปนั่งชิดติดขอบสนาม อีกทั้งยังจำกัดกีฬาและเจ้าหน้าที่ไม่ให้เกิน 10,000 คน อีกด้วย โดยการแข่งขันในครั้งนี้ไม่อนุญาติให้คนดูทั้งชาวต่างชาติและชาวญี่ปุ่นเข้าไปในสนามแข่งขันโดยเด็ดขาด เช่นเดียวกับ Fukushima Prefecture ที่จัดการแข่งเบสบอลและซอฟต์บอล และ Hokkaido Prefecture สำหรับแข่งมาราธอนและฟุตบอลก็ห้ามเช่นกัน ในขณะที่สนาม Miyagi, Shizuoka, Ibaraki Prefecture ก็จำกัดจำนวนผู้เข้าชม

แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องยอมรับในความคิด ความสร้างสรรค์ รวมไปถึงความสามารถของญี่ปุ่นกับคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ที่สามารถทำให้มหกรรมกีฬาครั้งยิ่งใหญ่เกิดขึ้นในที่สุด ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายกย่อง และสร้างความสุขให้กับหลาย ๆ ประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังอยู่ในภาวะวิกฤต

 
           
Copyright © 2021 SOCOOL LIMITED. All right reserved.