นับตั้งแต่โควิดระบาดหนัก อัตราการหาซื้อหาสัตว์เลี้ยงมาไว้ประจำบ้านดูเหมือนจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะในช่วงเวลาที่หัวใจเปราะบางเช่นนี้ การมีสิ่งมีชีวิตสักตัวคอยอยู่เป็นเพื่อน รับฟังความทุกข์ที่ไม่อาจบอกคนรอบข้าง สร้างความสุขเล็ก ๆ จากการได้ดูแลให้อาหาร เป็นสิ่งที่วิเศษไม่น้อย สัตว์เลี้ยงในเวลานี้จึงเป็นได้มากกว่าเพื่อนที่คอยคลายความเหงา แต่ยังช่วยบำบัดหัวใจของมนุษย์เราที่บอบช้ำจากการสูญเสียได้เป็นอย่างดี
ด้วยเหตุนี้ วิธีบำบัดจิตใจโดยใช้สัตว์เลี้ยงที่เรียกว่า "Pet Therapy" จึงกลายเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นสุนัขบำบัด แมวบำบัด หรือแม้กระทั่งม้าบำบัด ล้วนแล้วแต่ได้รับความสนใจจากทุกเพศ ทุกวัย ที่อยู่ในภาวะขาดกำลังใจ ดังเช่นที่เห็นตามข่าวในโทรทัศน์ว่ามีผู้ป่วยภาวะซึมเศร้าหลายยรายที่ได้รับการฟื้นฟูจิตใจจากสุนัขที่ตนเองเลี้ยงไว้จนหายดี ทำให้หลายคนยอมรับว่าสัตว์เลี้ยงมีคุณสมบัติในการเยียวยาหัวใจของมนุษย์ และเป็นยาชูกำลังทางด้านจิตใจให้เราได้อย่างมหาศาล
การที่ได้อยู่กับสัตว์เลี้ยง จะทำให้มนุษย์เรารู้สึกดีขึ้นผ่านการลูบไล้ และสัมผัส เพราะเวลาที่ได้ใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยง ฮอร์โมน Endorphin และ Oxytocin จะเพิ่มขึ้น ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นฮอร์โมนที่ส่งเสริมด้านอารมณ์ความสุข เมื่อฮอร์โมนเพิ่มขึ้น ความดันโลหิตจะลดลงมาอยู่ในระดับที่ปกติ ถือเป็นยาชั้นดีที่ช่วยในการฟื้นฟูจิตใจจากความบอบช้ำ หรือเมื่อตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล ทำให้ปัจจุบัน วิธีการรักษาโดยใช้สัตว์เลี้ยงบำบัด หรือ Pets Therapy เริ่มเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในหลายประเทศ โดยใช้เพื่อเยียวยาจิตใจของเด็กที่มีปัญหา, ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า รวมไปถึงผู้สูงอายุ
แต่ถึงแม้ว่าการเลี้ยงสัตว์ในช่วงโควิด ดูเหมือนจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีสำหรับคนที่ต้องการมีเพื่อนคลายเหงา และช่วยให้คลายจากความเครียด อย่างไรก็ตาม การเลี้ยงสัตว์ช่วยบำบัดได้เพียงแค่ผิวเผินเท่านั้น อ้างอิงจากงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Western Carolina University ที่กล่าวว่า สัตว์เลี้ยงบำบัดสามารถสร้างปัญหาให้กับผู้เลี้ยงได้เช่นกัน เพราะผู้ป่วยที่มีปัญหาทางด้านจิตใจบางรายอาจจะมีความรู้สึก “เบี่ยงเบน” ต่อโรคที่ตนกำลังเผชิญอยู่และไม่ไปหาจิตแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยตรง แต่จะหาสัตว์มาเป็นข้ออ้างเพื่อเลี่ยงการรักษาทางการแพทย์ ทำให้ปัญหายังคงมีต่อไปเรื่อย ๆ และอาการป่วยแย่ลงกว่าเดิม จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้ป่วย หรือเจ้าของสัตว์เลี้ยงจะต้องรู้เท่าทันอาการของตนเอง หากปัญหาที่เกิดในจิตใจเป็นส่วนหนึ่งของโรค ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างถูกวิธี และให้สัตว์เลี้ยงช่วยเยียวยา หรือขจัดความทุกข์ในใจเบื้องต้น |