HOME
 
 
CONTACT
  Today topic  
 

การเลือกตั้งที่(เคย)สกปรกที่สุดใน
ประวัติศาสตร์การเมืองไทย

 
  12/05/2023  
 

การเลือกตั้งในประเทศไทย นับตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาจนถึงตอนนี้ก็เป็น 90 ปีแล้ว อาจจะมีการเลือกตั้งที่พอถือว่าบริสุทธิ์ ก็เพียงยุคแรก ๆ ที่ยังไม่ทันรู้เล่ห์เหลี่ยมวิธีโกงเท่านั้น แต่ต่อมาก็โกงกันแหลก ซื้อสิทธิขายเสียงต่างนานามีให้เราได้เห็นประปรายมาจนทุกถึงวันนี้ แต่การเลือกตั้งที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า “สกปรกที่สุดแต่อาจไม่ท้ายสุดในประวัติศาสตร์ไทย”

การเลือกตั้งในปี 2500 โกงกันอย่างเสียหายป่นปี้และน่าเกลียดเสียจนประชาชนนิสิตนักศึกษาทนดูไม่ได้ ต้องออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้ประกาศว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ และการเลือกตั้งครั้งนี้ได้ถูกบันทึกและจดจำไว้ในชื่อ “เลือกตั้งสกปรกยุคกึ่งพุทธกาล”

ที่เรียกกันว่า “กึ่งพุทธกาล” ก็มาจากคำเล่าลือของสมัยโบราณที่ว่า พระพุทธองค์ได้ทรงทำนายฝันของพระยาปัตเถวนว่า ศาสนาของพระองค์จะยั่งยืนอยู่ในโลกนี้ 5,000 ปี ดังนั้นปีพุทธศักราช 2,500 จึงถือว่าเป็นกึ่งพุทธกาล รัฐบาลได้จัดงานเฉลิมฉลองมโหฬาร แต่ให้เรียกชื่องานว่า “งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ” ส่วนการเลือกตั้งทั่วไปดันมาเกิดขึ้นในปีนี้พอดี และได้มีการถูกเรียกว่า “การเลือกตั้งสกปรก” จอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่นำทีมลงเลือกตั้งเป็นครั้งแรก รู้สึกว่าคำนี้มันแทงใจและรุนแรงเกินไป ฟังแล้วรู้สึกไม่ดี เลยขอให้เรียกใหม่ว่า “การเลือกตั้งที่ไม่เรียบร้อย”

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทย 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 เป็นการเลือกตั้งทั่วไปที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งที่ 9 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งหลังจากสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดตามวาระ ภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2495 โดยรัฐบาลแปลก พิบูลสงคราม หรือจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศให้มีเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 โดยเป็นการเลือกตั้งแบบรวมเขตจังหวัด ซึ่งเป็นการช่วงชิงเก้าอี้ในสภาทั้งสิ้น 160 ที่นั่ง และมีพรรคการเมืองลงสนามเลือกตั้งถึง 23 พรรค

โดยชัยชนะในการเลือกตั้งปี 2500 ตกเป็นของพรรคเสรีมนังคศิลา ที่นำโดย จอมพลแปลก พิบูลสงครามและพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ซึ่งสามารถกวาดที่นั่ง ส.ส. ในสภาไปได้ 86 ที่นั่ง จากทั้งหมด 160 ที่นั่ง โดยมี ส.ส. ที่มาจากการแต่งตั้งจำนวน 123 คน ซึ่งมาจากรัฐสภาชุดที่แล้ว

พิพิธภัณฑ์รัฐสภา ได้มีการระบุไว้ว่าการเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 เป็นไปโดยไม่สุจริตโปร่งใสหลายประการ อย่างเช่น ในช่วงก่อนการเลือกตั้งได้มีการข่มขู่สารพัดจากพวกนักเลงและอันธพาล ซึ่งรัฐบาลเรียกว่า ‘ผู้กว้างขวาง’

คนกลุ่มนี้ได้มีการเข้าไปบังคับให้ชาวบ้านเลือกผู้สมัครจากพรรครัฐบาล ซึ่งก็คือ พรรคเสรีมนังคศิลา ที่นำโดยจอมพลแปลก อีกทั้งยังมีการทำร้ายฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง โดยการแจกใบปลิวโจมตีพรรคฝ่ายค้าน คือ พรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงการเพิ่มชื่อในบัญชีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอย่างผิดปกติ และติดรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งล่าช้าหรือไม่ติดเลย

โดยในวันเลือกตั้งนั้นเอง มีการใช้ ‘พลร่ม’ ซึ่งเป็นกลวิธีให้คนเวียนเทียนกันลงคะแนนหลายรอบ และเมื่อปิดหีบแล้วมีการเอาบัตรลงคะแนนที่เตรียมไว้ใส่เข้าไปในหีบเพิ่มเติม และยังมีการแอบเปลี่ยนหีบเลือกตั้งในที่ลับตาผู้คน นอกจากนี้ การดำเนินการในหน่วยเลือกตั้งก็เป็นไปอย่างผิดสังเกตหลายจุด เช่น เวลาในการเปิด–ปิดหีบของหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยที่ไม่เท่ากัน และการนับคะแนนบัตรเสียที่ไม่เป็นมาตรฐาน

การเลือกตั้งในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2500 ใช้เวลานับคะแนนเลือกตั้งนานถึง 7 วัน 7 คืน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดปกติเป็นอย่างมาก โดยมีเหตุการณ์ที่เป็นที่จดจำก็คือ ในวันลงคะแนน ปรากฏว่าเกิดชุลมุนตามหน่วยเลือกตั้งทั่วกรุง นักข่าวและช่างภาพก็ไม่อาจทำงานได้ เพราะกลุ่มอันธพาลเข้าประกบและข่มขู่ ยิ่งตอนนับคะแนนยิ่งแล้วใหญ่ เพราะบางแห่งหีบบัตรหายไปเฉย ๆ กว่าจะตามมาได้ก็หลายชั่วโมง ไม่ต้องสงสัยว่าบัตรลงคะแนนข้างในถูกเปลี่ยนไปหมดแล้ว

หลายแห่งเกิดไฟดับตอนนับคะแนน ซึ่งพอไฟมาแล้วนับคะแนนต่อ ปรากฏว่าคะแนนเสียงที่นับเสร็จแล้ว กลับมีมากกว่าจำนวนผู้ที่มาลงทะเบียนเลือกตั้งในหน่วยนั้น บางแห่งก็นับจากหีบโยนลงเข่ง แล้วนับจากเข่งโยนลงหีบอีก บางหน่วยที่ฝ่ายรัฐบาลมีทีท่าว่าจะแพ้ ก็มีการถ่วงเวลานับคะแนนให้ช้าลง

ทั้งนี้ หลักฐานที่ชัดเจนที่สุดว่า การเลือกตั้ง ส.ส. ครั้งที่ 7 นี้ มีความไม่สุจริตเกิดขึ้น คือ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งนี้สูงกว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนในปี 2495 ถึง 57.50% โดยสถิติครั้งก่อนในปี 2476 คือ 41.50% ซึ่งข้อมูลดังกล่าวเป็นเครื่องบ่งชี้ว่ามีการโกงเลือกตั้งอย่างหนักเกิดขึ้น

การเล่นสกปรกหลากหลายรูปที่เกิดขึ้น ทำให้นิสิต นักศึกษา และประชาชนไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง มีการลดธงชาติครึ่งเสา เพื่อไว้อาลัยการเลือกตั้งในครั้งนี้ และมีการเดินขบวนประท้วงจากสนามหลวงไปยังทำเนียบรัฐบาล โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ จอมพลแปลกได้ชี้แจงการเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งต่อมาได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งใหม่ไม่ได้มีการจัดขึ้น เนื่องจากเกิดการรัฐประหารโดย จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2500 ซึ่งเหตุการณ์หลังจากการเลือกตั้ง วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 แล้วก็สรุปได้ว่าเกิดการประท้วงในหมู่ประชาชน นักศึกษา และพรรคการเมืองที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์

จอมพล ป. พยายามประนีประนอมกับทุกฝ่าย แม้จะมีการประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉินในวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2500 ซึ่งในวันนั้นจอมพลสฤษดิ์กล่าวคำขอบคุณและอำลาประชาชน โดยปิดท้ายด้วยประโยคว่า “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ”

นำไปสู่การรัฐประหารในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 สุดท้ายแล้วในบริบทประเทศไทย วาทกรรมซื้อสิทธิขายเสียงยังคงเป็นที่ถกเถียงของหลายฝ่าย บางฝ่ายเชื่อว่า ประชาชนยัง ‘โง่ จน เจ็บ’ จึงต้องขายเสียง แต่บางฝ่ายก็พยายามโต้กลับความเชื่อดังกล่าวว่า ประชาชนไม่ได้โง่ เพียงแต่ว่ารัฐบาลชุดก่อนบริหารประเทศไม่ดี เศรษฐกิจไม่ดีจึงทำให้เหล่าชนชั้นล่างไม่มีทางเลือกต้องยอมรับเงิน

แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า วาทกรรมเหล่านี้ทำลายความเชื่อมั่นของกระบวนการประชาธิปไตยในภาพรวม

อย่างไรก็ตามสังคมไทยควรจับตามองพฤติกรรมโกงการเลือกตั้งหรือ ‘การเล่นสกปรก’ ให้มากขึ้น โดยเฉพาะการปั่นป่วนระบบเลือกตั้งจากฝั่งผู้มีอำนาจ ไม่ใช่แค่จากบรรดาผู้สมัครหรือพรรคการเมืองด้วยกันเท่านั้น มิเช่นนั้นมีแต่จะนำพาประเทศก้าวถอยหลังสู่ยุคที่ไร้ประชาธิปไตย

_____________________
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
-วาณิชชา สายเสมา
-โรม บุนนาค
-พิพิธภัณฑ์รัฐสภา

 
           
Copyright © 2021 SOCOOL LIMITED. All right reserved.