การยืนเคารพธงชาติไทย มีประวัติที่ย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่ 6 หรือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งถือเป็นยุคที่มีการปรับใช้สัญลักษณ์และพิธีกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมความรักชาติและความเป็นเอกภาพในหมู่ประชาชน
.
ช่วงเริ่มแรกรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาออกกฎกระทรวงมหาดไทย เรื่องระเบียบการชักธงชาติ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2478 ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับแรกที่กำหนดถึงระเบียบในการชักธงและการประดับธงชาติ โดยการยืนเคารพธงชาติในเวลานั้นถูกใช้ในการเคารพในสถานที่ราชการและพิธีการสำคัญเท่านั้น
.
ซึ่งต่อมาในยุคสร้างชาติปี พ.ศ. 2485 สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติธงชาติ โดยให้ยืนตรงเคารพธงชาติในเวลา 8.00 น. และ 18.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่เปิดเพลงชาติในที่สาธารณะ
.
การยืนเคารพธงชาตินั้นเกิดจากรายการวิทยุกระจายเสียงของ “นายมั่น-นายคง” ซึ่งวิทยุเป็นเครื่องมือโฆษณาที่สำคัญของรัฐบาลในเวลานั้น ที่ออกอากาศเมื่อ 13 กันยายน 2485 เชิญชวนและนัดหมายกับประชาชนให้ยืนตรงเคารพธงชาติพร้อมกัน ทำให้ในวันที่ วันที่ 14 กันยายน 2485 ประชาชนก็ร่วมใจกันยืนตรงเคารพธงชาติพร้อมกันอย่างเป็นทางการ
.
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การยืนตรงเคารพธงชาติในช่วงเวลาเหล่านี้จึงกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของคนไทยสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน