HOME
 
 
CONTACT
  Today topic  
 

ภาวะโลกร้อน เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเนื่องจากโลกไม่สามารถระบายความร้อนที่ได้รับจาก รังสีดวงอาทิตย์ออกไปได้อย่างปกติ

 
  27/05/2023  
 

ภาวะโลกร้อน จึงทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น และทำให้สภาพอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิติบนโลก

สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การผลิตพลังงาน - การผลิตพลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อนโดยการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกในปริมาณมาก พลังงานไฟฟ้าส่วนใหญ่ยังคงผลิตมาจากการเผาไหม้ถ่านหิน น้ำมันหรือก๊าซ ซึ่งจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซไนตรัสออกไซด์ออกมา ก๊าซทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีอานุภาพในการห่มคลุมโลกและดักเก็บความร้อนจากดวงอาทิตย์ พลังงานไฟฟ้าที่ใช้กันทั่วโลกมีประมาณ 1 ใน 4 ส่วนเท่านั้นที่ผลิตจากพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ โดยพลังงานเหล่านี้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือมลพิษออกสู่อากาศเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย ซึ่งตรงกันข้ามกับเชื้อเพลิงฟอสซิล

การผลิตสินค้า - กิจกรรมในภาคการผลิตและอุตสาหกรรมก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ส่วนใหญ่มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อให้ได้พลังงานสำหรับการผลิตสินค้าต่าง ๆ เช่น ปูนซีเมนต์ เหล็ก โลหะ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก เสื้อผ้า และอื่น ๆ การทำเหมืองแร่และอุตสาหกรรมอื่น ๆ รวมถึงอุตสาหกรรมก่อสร้างก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเช่นกัน เครื่องจักรที่ใช้ในกระบวนการผลิตมักใช้พลังงานจากถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซ วัสดุบางอย่าง เช่น พลาสติก ก็ทำมาจากสารเคมีที่ได้มาจากแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิล อุตสาหกรรมการผลิตเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดทั่วโลก

การตัดไม้ทำลายป่า - ในแต่ละปี พื้นที่ป่าประมาณ 75 ล้านไร่ถูกทำลาย การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำไร่หรือทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์หรือเพื่อจุดประสงค์อื่น ๆ ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะต้นไม้ที่ถูกตัดจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มันดูดซับเอาไว้ออกมา การตัดไม้ทำลายป่าจึงเป็นการลดขีดความสามารถของธรรมชาติในการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกไม่ให้ออกสู่ชั้นบรรยากาศ การตัดไม้ทำลายป่า การทำเกษตรและการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ที่ดิน มีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกถึง 1 ใน 4

การคมนาคมขนส่ง - รถยนต์ รถบรรทุก เรือ และเครื่องบินส่วนใหญ่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล การขนส่งจึงกลายเป็นสาเหตุหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ยานพาหนะบนท้องถนนปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุดเพราะเครื่องยนต์แบบสันดาปภายในต้องอาศัยการเผาไหม้ของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากปิโตรเลียม เช่น น้ำมันเบนซิน ตามมาด้วยเรือและเครื่องบิน ปริมาณการปล่อยมลพิษของภาคการขนส่งคิดเป็นเกือบ 1 ใน 4 ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานทั่วโลก และการใช้เชื้อเพลิงของภาคการขนส่งก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

การผลิตอาหาร - การผลิตอาหารทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน และก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหารก็เช่นกัน เช่น การตัดไม้ทำลายป่าและแผ้วถางที่ดินเพื่อทำการเกษตรและทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ กระบวนการย่อยอาหารของวัวและแกะ การผลิตและการใช้ปุ๋ยและมูลสัตว์การใช้พลังงานสำหรับเครื่องมือทางการเกษตร และเรือประมงส่วนใหญ่ก็มักใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ทั้งหมดนี้ทำให้การผลิตอาหารเป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ บรรจุภัณฑ์อาหารและการกระจายสินค้าอาหารก็ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน

การใช้พลังงานในอาคารบ้านเรือน - อาคารพาณิชย์และอาคารที่พักอาศัยใช้พลังงานไฟฟ้ามากกว่าครึ่งหนึ่งของพลังงานที่ใช้ทั่วโลก ตราบใดที่เรายังคงใช้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติในการทำความร้อนและความเย็น อาคารบ้านเรือนก็จะเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมหาศาลต่อไป ความต้องการใช้พลังงานในการทำความร้อนและความเย็นนั้นเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากการที่ผู้คนจำนวนมากขึ้นมีเครื่องปรับอากาศใช้ การใช้ไฟฟ้าที่มากขึ้นเพื่อแสงสว่าง เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์เชื่อมต่อต่างก็มีส่วนในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานในอาคารบ้านเรือนที่สูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

การบริโภคที่มากเกินไป - บ้านและการใช้พลังงานในบ้าน การเดินทาง สิ่งที่คุณรับประทาน และสิ่งที่คุณทิ้ง ทั้งหมดล้วนมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่นเดียวกับการบริโภคสินค้าต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้า อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ และพลาสติก การบริโภคภายในครัวเรือนคือแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกขนาดใหญ่ของโลก รูปแบบการใช้ชีวิตของเราก็มีผลกระทบอย่างมหาศาลต่อโลก และประชากรที่ร่ำรวยที่สุดต้องรับผิดชอบมากที่สุด กล่าวคือ ประชากรโลกที่ร่ำรวยที่สุดซึ่งมีอยู่เพียงร้อยละ 1 ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าร้อยละ 50 ของประชากรโลกที่ยากจนที่สุด

ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อุณหภูมิสูงขึ้น
- เมื่อความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้น อุณหภูมิพื้นผิวของโลกก็จะเพิ่มสูงตามไปด้วยเช่นกัน เกือบทุกภูมิภาคบนโลกต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนมากขึ้นในขณะที่วันซึ่งอากาศร้อนก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น ปี 2020 เป็นปีที่อากาศร้อนที่สุดในประวัติการณ์ อุณภูมิที่สูงขึ้นจะทำให้เกิดโรคและความเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากความร้อน และทำให้การทำงานหรือการเดินทางลำบากขึ้น ไฟป่าก็จะเกิดง่ายขึ้นและลุกลามเร็วกว่าเดิม อุณหภูมิในบริเวณขั้วโลกเหนือสูงขึ้นด้วยความเร็วอย่างน้อย 2 เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก

พายุรุนแรงขึ้น - การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิส่งผลต่อปริมาณฝน โดยทำให้เกิดพายุที่รุนแรงขึ้นและถี่ขึ้น เกิดน้ำท่วม ดินถล่ม สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนและชุมชน คิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ภัยแล้งสาหัสขึ้น - หลายภูมิภาคเริ่มขาดแคลนน้ำ ความแห้งแล้งจะยิ่งทำให้พายุฝุ่นและพายุทรายรุนแรงมากขึ้นจนอาจพัดพาทรายปริมาณหลายพันตันข้ามทวีปได้เลย ทะเลทรายที่ขยายตัวทำให้พื้นที่ในการเพาะปลูกลดลง ผู้คนมากมายไม่มีน้ำดื่มน้ำใช้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต

น้ำทะเลร้อนและสูงขึ้น - มหาสมุทรต้องดูดซับความร้อนส่วนใหญ่อันเกิดจากภาวะโลกร้อน ส่งผลให้น้ำแข็งละลายและระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นภัยต่อชุมชนริมชายฝั่งและบนเกาะต่างๆ นอกจากความร้อน มหาสมุทรยังต้องดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่ให้ขึ้นไปบนชั้นบรรยากาศ จนทำให้น้ำทะเลเป็นกรดและเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเล

สิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ - การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภัยต่อการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ทั้งบนบกและในน้ำ ยิ่งอุณหภูมิสูงขึ้น ภัยธรรมชาติก็ยิ่งรุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะไฟป่า สภาพภูมิอากาศที่สุดขั้ว หรือการแพร่กระจายของแมลงศัตรูพืชและโรคระบาด สิ่งมีชีวิตบางชนิดอาจย้ายถิ่นอาศัยเพื่อความอยู่รอด ในขณะที่บางชนิดก็ไม่สามารถทำได้ ขณะนี้ โลกกำลังสูญเสียสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่าง ๆในอัตราที่เร็วกว่าช่วงเวลาใด ๆ ที่เคยบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ถึง 1,000 เท่า สิ่งมีชีวิตกว่า 1 ล้านชนิดเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์ภายในไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า

อาหารขาดแคลน - สภาพอากาศที่แปรปรวนและรุนแรงซ้ำเติมปัญหาความอดอยากและภาวะทุพโภชนาการ ตลอดจนสร้างความเสียหายต่อการประมง การเพาะปลูก และปศุสัตว์ เพราะความร้อนทำให้แหล่งน้ำแห้งและพื้นที่ทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์ลดลง มหาสมุทรที่เป็นกรดมากขึ้นสร้างความเสียหายต่อทรัพยากรทางทะเลที่ใช้หล่อเลี้ยงผู้คนหลายพันล้านคน การเปลี่ยนแปลงของหิมะและน้ำแข็งในบริเวณขั้วโลกเหนือส่งผลกระทบอย่างหนักต่อปริมาณอาหารที่มาจากการเลี้ยงปศุสัตว์ การล่าสัตว์ และการประมง ความร้อนที่สูงยังทำให้ปริมาณน้ำและทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์หดหาย กระทบต่อปริมาณพืชผลและปศุสัตว์

ปัญหาสุขภาพ - การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บมากขึ้น เช่น โรคมาลาเรีย ส่งผลให้ผู้คนเจ็บป่วยเสียชีวิตจำนวนมากจนระบบสุขภาพไม่อาจรองรับได้ ส่วนในพื้นที่ที่ไม่สามารถเพาะปลูกหรือหาอาหารได้เพียงพอ ผู้คนก็ต้องเผชิญผลเสียต่อสุขภาพในด้านอื่นด้วย เช่น ความอดอยากและภาวะทุพโภชนาการ

ความยากจนและการพลัดถิ่น - การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นตัวกระตุ้นปัจจัยที่นำไปสู่ความยากจน เช่น อุทกภัยที่สร้างความเสียหายแก่ชุมชนแออัดในตัวเมือง บ้านเรือน ตลอดจนชีวิตของผู้คน และความร้อนที่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานกลางแจ้ง ภัยพิบัติที่เกิดจากความร้อนทำให้ในแต่ละปีมีผู้คนต้องพลัดถิ่นถึง 23 ล้านคน และอีกนับไม่ถ้วนต้องเผชิญความยากจน

_____________________
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
https://bit.ly/43teFbi
http://climate.tmd.go.th/content/file/11

 
           
Copyright © 2021 SOCOOL LIMITED. All right reserved.